
ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ
วัดประดู่ฉิมพลี
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
ท่านเป็นพระของประชาชน เป็นพระผู้มีจิตเมตตาเยือกเย็นเป็นที่สุด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า
ท่านไม่เคยปริปากพูดคําว่า “เจ็บป่วย ลําบาก เหน็ดเหนื่อย หรือยากแค้น”
ท่านจะยิ้มรับทุกคนที่เดินทางไปหา และจะอุเบกขานิ่งเฉย เมื่อถึงคราวจําเป็น ใครไม่ถามก็ไม่ตอบ ไม่พูด ไม่เพ้อเจ้อไหวหวั่น
บางคราวท่านถูกศิษย์จัดโปรแกรมให้โดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน แม้ท่านจะกระทําในสิ่งที่ตนเองตั้งใจปรารถนาก็ต้อง งดอดใจตนเอง
คือขัดใจตนเอง ดีกว่าไปขัดใจคนอื่น เพราะการขัดใจคนอื่น อาจเสียผลทางใจของเขาแล้วเป็น บาป (ไม่สบายใจ)
ท่านมีความสนใจทุ่มเทกายใจ มุ่งปฏิบัติพระกรรมฐานตั้งแต่อายุ ได้ ๑๗ ปี คือตอนเป็นสามเณร
จิตใจที่แก่กล้าอาจหาญของท่านมีอานุภาพอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงมักได้รับนิมนต์ให้ท่านเข้าพิธี การต่าง ๆ ปีหนึ่ง ๆ นับไม่ถ้วน
หลวงปู่โต๊ะเอง ท่านก็รู้และเข้าใจดีเป็นที่สุดว่า บางเรื่องก็เป็นความบริสุทธิ์ มีเจตนาดี หวังแต่ผลโดยส่วนรวม บางเรื่องก็เป็นเรื่องของกิเลส มีเจตนาโดยส่วนตน ในทํานองที่ว่า “วัวใครก็เข้าคอกใคร”
ท่านไม่เพ่งโทษ หรือติเตียนผู้ใด ท่านมีแต่เมตตากรุณาเป็นเบื้องบท ใครจะคดใครจะตรง ก็เป็นส่วนของบุคคล ท่านวางอุเบกขาได้เสมอ
ความจริงหลวงปู่โต๊ะท่านมิใช่พระที่มีหน้าที่ปลุกเสก หรือนั่งปรกให้แก่ใคร ๆ ใจของท่านนั้นรักในการ ปฏิบัติเจริญธรรมกรรมฐานมากกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งหมด นี่เป็นความ จริงที่ท่านตั้งใจและปรารถนา
เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ปีจอ ขึ้น ๘ ค่ํา เดือน ๕
บ้านเกิดคือที่บางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นาย ลอย รัตนกร มีเชื้อสายจีน (เคยใช้แซ่)
มารดาชื่อ นางทับ รัตนกร มีอาชีพเพาะปลูกรับจ้างโดยทั่วไป
อายุแต่เยาว์วัยท่านมาอยู่กับญาติที่มีบ้านใกล้วัดประดู่ฉิมพลี ฝั่งธนบุรี และได้ศึกษาเล่าเรียน ณ ที่แห่งนี้ อายุได้ ๑๗ ปี ก็เข้า บรรพชาเป็นสามเณร
ช่วงแรกของชีวิต ท่านได้ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนากับ ท่านพระอาจารย์พรหม ซึ่งท่านเป็นพระกรรมฐานที่ชํานาญมาก
นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาเล่าเรียนหลักพระปริยัติธรรมอีกด้วย
อายุครบบวช ก็ได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ พัทธสีมา โดย พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุชิต เป็น พระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูธรรมวิรัตน์ (เชย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในพระพุทธ ศาสนาว่า “อินทสุวัณโณ ภิกขุ”

ท่านเป็นพระนักปฏิบัติอย่างเต็มตัว (ส่วนวิชาอาคมนั้น เป็นเรื่องธรรมดาๆ ของบุคคลสมัยก่อนและครูบาอาจารย์สมัยก่อนเท่านั้น)
ปฏิปทาที่หลวงปู่โต๊ะท่าน ปฏิบัติมาคือหลักสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็น พระนักปฏิบัติเดินธุดงค์ ราย
ท่านเคยออกเดินธุดงคกรรมฐานท่องเที่ยวไปในป่าดงพงไพร โดยการมุ่งสู่ภาคเหนือ เพื่อนมัสการรอยพระบาท ๔ รอยในจัง หวัดเชียงใหม่
ชีวิตพระป่าผู้รักความสงบ มีความสันโดษมักน้อยแห่งชีวิต แม้จะลําบากยากแค้นสักเพียงใด ก็ถือเอาตรงจิตใจสําคัญกว่าสิ่งใดทั้งหมด
ท่านสละความสุขของท่านเอง เพื่อวิชาอันจะพาดวงใจของท่านได้พบแดนเกษม
ท่านเคยกล่าว ไว้ท่ามกลางคณะลูกศิษย์ว่า
“การอยู่การกินลําบาก หนทางทุรกันดาร และการนอนอยู่กลางป่าดงดิบด้วยกลดเล็ก ๆ พอกาย ตลอดถึงเสียงร้องข่มขู่ คํารามของสัตว์ป่า แม้จะมีพระสหธรรมิกร่วมคณะหลายคน ก็หาได้มีความอบอุ่นช่วยเหลือต่อกันได้
นี้เป็นข้อคิดพิจารณาและ เป็นการเตือนจิต เตือนสติของตนเองได้ดี
เดินธุดงค์ขึ้นไปบนป่าสูง ได้พบกับภาพอันน่าสลดใจของเพื่อนสมณะ ที่เหลือแต่เศษจีวร และคราบเลือดตกกระจัดกระจายตามพื้นดิน ก็ยิ่งให้เป็นอุทาหรณ์ สอนใจ ให้มีการสํารวมศีล มีสมาธิ ยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นชาย-หญิงเกิดมาแล้วประเสริฐทั้งสิ้น เพราะเป็นมนุษย์ แต่จะให้ดีประเสริฐยิ่งขึ้น ก็ควรมีศีลมีธรรมบําเพ็ญบารมีจึง จะได้ชื่อว่ามีที่หมายจริง ๆ”
หลวงปู่โต๊ะ ท่านได้อาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ และก่อนมรณภาพได้เพียง ๗ วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เวลา ๐๙.๕๕ น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๓ ปี ๗๓ พรรษา
อ้างอิง-ที่มา : https://www.108prageji.com/หลวงปู่โต๊ะ-อินทสุวัณโณ/
